นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๖ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ


 
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชีย และแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๖ ภายใต้หัวข้อหลัก “การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในด้านมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพเป็นครั้งแรกเพื่อสอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-๑๙) โดยมีบุคคลสาคัญอื่น ๆ ที่กล่าวเปิดการประชุมฯ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟิจิ นายกรัฐมนตรีตูวาลู รองประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม แห่งสหประชาชาติ เลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารเอสแคป
 
ในการประชุมฯ ครั้งนี้ ประเทศสมาชิกเอสแคป รวม ๕๑ ประเทศ ตลอดจนสมาชิกสมทบ และผู้สังเกตการณ์ ได้ร่วมกันเสนอมุมมองต่อการเสริมสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ จากมหาสมุทรอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ ๑๔ และได้ทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ในเอเชียและแปซิฟิก ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ และในการฟื้นฟูกลับมาให้ดีกว่าเดิม (Build Back Better) นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ว่าเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง ซึ่งบังคับให้ทุกคนต้องปรับตัว และพร้อมรับความปรกติแบบใหม่ โดยได้ชื่นชมและให้กำลังใจทุกประเทศในการฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ในการควบคุมและรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใส และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่า ๑ ล้านคน
 
ในการฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิม นายกรัฐมนตรีได้เน้นถึงการที่ทุกฝ่ายจะต้องยืนหยัดในความยั่งยืน โดยความสำคัญของการฟื้นฟูธรรมชาติ การสร้างความสมดุลระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน โดยไทยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-๑๙ ยังเป็นโอกาสดีที่ทุกฝ่ายจะปรับเปลี่ยนแนวคิดและหาวิธีการใหม่ ๆ ในการส่งเสริมความร่วมมือในทุก ๆ ด้านให้เกิด ความยั่งยืน อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน สาธารณสุข การใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จากเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ Bio Circular Green Economy (BGC) จะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนและส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุม
 
ในโอกาสครบรอบ ๗๕ ปีของการก่อตั้งสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงระบบพหุภาคีนิยม ซึ่งกำลังถูกทดสอบ และสหประชาชาติ รวมทั้งระบบพหุภาคีจะต้องปรับตัวให้สะท้อนผลประโยชน์ของรัฐสมาชิกให้มากขึ้น โดยเอสแคปเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตเช่นโควิด-๑๙ ซึ่งไร้พรมแดน และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศและภาคส่วนตลอดจนเป็นกลไกสาคัญในการสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action)  ทั้งนี้ สามารถรับชมวีดิทัศน์คำกล่าวนายกรัฐมนตรีได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=4S3srIUzbkw
 
ที่ประชุมฯ ได้กำหนดหัวข้อหลักการประชุมฯ สมัยที่ ๗๗ ในปี ๒๕๖๔ คือ “การฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิมจากวิกฤติผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชียและแปซิฟิก” เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในภูมิภาคหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ฟื้นฟูจากวิกฤติโควิด-๑๙ เพื่อพร้อมรับมือและมีภูมิคุ้มกันต่อข้อท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต
 
 
 
 
 

ที่มา:กระทรวงการต่างประเทศ