รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล


 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือความร่วมมือในการรับมือกับโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) การเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความท้าทายจากโรคระบาด การเข้าถึงวัคซีนและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการส่งเสริมความเชื่อมโยงและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการค้าการลงทุน
 
เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายโมเทกิ โทชิมิทสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และนายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เป็นประธานร่วมการประชุม และมีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา เข้าร่วมด้วย
 
การประชุมครั้งนี้เป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่นภายหลังการระบาดของโควิด-๑๙ ที่ประชุมฯ จึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) การลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาบุคลากรและสถาบันทางการแพทย์ การจัดตั้ง COVID-19 Crisis Response Emergency Support Loan รวมทั้งเปิดตัวข้อริเริ่ม KUSANONE Mekong SDGs Initiative โดยจะสมทบเงินอย่างน้อย ๑ พันล้านเยน (๙.๓๖๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับปี ค.ศ. ๒๐๒๐ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับรากหญ้าในอนุภูมิภาค
 
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความสำคัญของการเข้าถึงวัคซีนและยา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการบรรลุ UHC โดยไทยพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้าน UHC ผ่านระบบเครือข่ายทางการแพทย์ข้ามพรมแดน การดำเนินการตามข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ตลอดจนการส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ การเปิดตลาด การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการจัดตั้งกลไกอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ASEAN Outlook on the Indo Pacific กับแนวคิด Free and Open Indo Pacific ของญี่ปุ่น และระหว่างกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) เพื่อนำมาซึ่งสันติสุข ความมั่นคงและความเจริญในภูมิภาคอีกด้วย 
 
ประเทศลุ่มน้ำโขงได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและความเสียหายทางทรัพย์สิน พร้อมขอบคุณญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-๑๙ และการสนับสนุนโครงการเพื่อการบรรลุ UHC พร้อมแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบสาธารณสุข กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ เพื่อให้ประเทศในอนุภูมิภาคฟื้นตัวและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป  
 
ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๓ “ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างบูรณาการ” ที่เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนา UHC การเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับโรคระบาด และเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะให้ความสำคัญกับการรักษาห่วงโซ่การผลิต การเปิดตลาด รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน
 
 
 
 
 

ที่มา:กระทรวงการต่างประเทศ