การหารือทวิภาคีทางโทรศัพท์ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา


 
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทางโทรศัพท์กับนายจ่อ ติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partnership) และเพื่อสานต่อประเด็นความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
 
ทั้งสองฝ่ายได้หารือความเป็นไปได้ในการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนที่มีอยู่เดิมแต่ไม่ได้เปิดใช้งานและยกระดับจุดผ่อนปรนที่มีอยู่เป็นจุดผ่านแดนถาวร โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนและหารือร่วมกันเพื่อยกระดับจุดผ่านแดนผ่านกลไกทวิภาคีที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อเร่งส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
 
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมาขอบคุณรัฐบาลไทยที่อนุญาตให้แรงงานเมียนมาที่ตกค้างในประเทศไทยสามารถอยู่ในประเทศไทยและทำงานต่อได้อีก ๒ ปี จนถึงเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ และขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาอนุญาตให้ชาวเมียนมากลับเข้ามาทำงานในไทยได้โดยเร็วเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง นอกจากนี้ ยังได้แสดงความขอบคุณไทยที่สนับสนุนความพยายามของเมียนมาในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งชื่นชมรัฐบาลไทยที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศได้อย่างดีจนติดอันดับต้นของโลก
 
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าการลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศหลัง COVID-19 จึงได้หารือ (๑) การเร่งผลักดันการเชื่อมโยงผ่านโครงการพัฒนาถนนสองช่องทางซึ่งเชื่อมจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี - ด่านทิกิ ภาคตะนาวศรี กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจทวาย (๒) การส่งเสริมการลงทุนของนักธุรกิจไทยในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐมอญซึ่งสามารถเชื่อมเมียนมาเข้าสู่จังหวัดตากและต่อไปจนถึงนครดานังผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor - EWEC) และ (๓) การอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจของทั้งสองฝ่ายในการเข้าไปลงทุนในทั้งสองประเทศ
 
ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของไทยในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะประเมินความต้องการเบื้องต้นของอาเซียน (Preliminary Needs Assessment - PNA) โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เมืองซิตต่วย และโครงการความร่วมมือไตรภาคี (tripartite cooperation) อาทิ กับญี่ปุ่น และโอกาสในการขยายความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน
 
 
 
 
 

ที่มา:กระทรวงการต่างประเทศ