ไทย - ลาว ลงนามข้อตกลงร่วมพัฒนา "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" ข้ามแม่น้ำโขง


        

        ข้อตกลงที่ว่านี้มีขึ้นระหว่างที่นายกฯ ลาว ทองลุน สีสุลิต กำลังเยือนประเทศไทยในสัปดาห์นี้ ไทยกับลาวเพิ่งลงนามในข้อตกลงด้านการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มความสัมพันธ์และการค้าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 
        ข้อตกลงด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ระหว่างไทยกับลาว เป็นหนึ่งในความพยายามขยายความสัมพันธ์ในหมู่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นหัวใจสำคัญของที่ประชุมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของสมาคมอาเซียน ที่เมืองปากเซ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ซึ่งมีลาวเป็นเจ้าภาพการประชุมเป็นครั้งแรกในฐานะประธานอาเซียน
 
        การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน และมีการเรียกร้องให้มีการร่างแนวทางการปฏิบัติระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจในบริเวณพื้นที่ที่เกิดโครงการดังกล่าว
 
        รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของลาว บ่อแสงคำ วงดารา กล่าวว่าภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ช่วยสร้างประโยชน์มากมายทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม
 
        ปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้หลักของลาว ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวราว 4 ล้าน 6 แสนคนเมื่อปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม
 
        รายงานของ World Travel and Tourism Council เมื่อปี ค.ศ. 2015 ชี้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่า GDP ทั้งหมดของลาว และจ้างงานราว 13% ของตลาดแรงงานในประเทศลาว
 
        ที่ผ่านมา ทางการลาวได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคและการคมนาคม เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายสนามบินนานาชาติวัดไตมูลค่า 61 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2018 นอกจากนี้ยังเตรียมลงทุนปรับปรุงสนามบินในประเทศอีกหลายแห่ง
 
        ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ถือเป็นธุรกิจใหญ่ในลาว เนื่องจากลาวมีทรัพยากรและสถานที่ที่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า การปั่นจักรยานตามเขตป่าสงวนและชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการพายเรือและล่องแก่ง
 
        คุณ Raphael Kern ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเที่ยว Diethlem ในลาว ระบุว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับลูกค้าจากแต่ละประเทศ ซึ่งมีความต้องการ ความคาดหวัง และงบประมาณ แตกต่างกันไป
 
        คุณ Kern ชี้ว่าหากเป็นนักท่องเที่ยวจีน ทางบริษัทจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาจีนได้หลายๆ คนไว้คอยบริการ ส่วนชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ชอบช่วยเหลือตัวเอง ขณะที่ชาวยุโรปจะชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบเข้มข้นมากเป็นพิเศษ
 
        อย่างไรก็ตาม คุณ Klaus Schwettmann ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของบริษัท Green Discovery ชี้ว่า เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ลาวยังคงตามหลังประเภทเพื่อนบ้านในแถบนี้
 
        คุณ Schwettmann บอกว่าไทยได้เปรียบที่มีชายหาดสวยงามมากมาย ส่วนเมียนมาร์ซึ่งมีทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ก็กำลังก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งรายใหม่
 
        ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวผู้นี้ระบุว่า รัฐบาลลาวจำเป็นต้องเพิ่มการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากกว่านี้ โดยเฉพาะในด้านการออกนโยบายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม การปราบปรามปัญหายาเสพติด ตลอดจนการจับกุมบริษัทนำเที่ยวผิดกฎหมายที่ผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด
 
        รวมทั้งความกังวลเรื่องการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งอาจคุกคามต่อแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า และระบบนิเวศวิทยาในแถบลุ่มแม่นำโขงด้วย
 

ที่มา:วอยซ์ ออฟ อเมริกา