กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการจัดการบริหารแม่น้ำโขงผ่านเวทีระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยคำนึงถึงบทบาทสำคัญของภาคประชาสังคม


 
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศต่อกรณีระดับน้ำโขงที่เชียงแสน ลดลง ๑ เมตร เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๔ เนื่องจากประเทศจีนมีการกั้นน้ำไว้ที่เขื่อนจิ่งหง เพื่อทดสอบระบบผลิตไฟฟ้าของเขื่อน และทางการจีนแจ้งมาที่หน่วยงานด้านน้ำของไทยในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๔ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
๑. กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๔ ล่าสุดตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา สทนช. แจ้งว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงในพื้นที่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว (๒ เมตร) อย่างไรก็ดี โดยที่การซ่อมเขื่อนในจีนย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศท้ายน้ำ สทนช. จึงได้แจ้งความกังวลของไทยต่อฝ่ายจีนในทันทีที่ได้รับแจ้งข้อมูลจากจีน ทั้งผ่านกลไกทวิภาคี กรอบความร่วมมือ Mekong - Lancang Cooperation (MLC) และองค์กรความร่วมมือ Mekong River Commission (MRC) และได้กล่าวย้ำขอให้ฝ่ายจีนแจ้งข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ ที่จะสร้างผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสายประธานให้ประเทศท้ายน้ำทราบ
 
๒. MLC และ MRC เป็นกลไกพหุภาคีในระดับอนุภูมิภาคที่จะหารือฉุกเฉินในกรณีที่เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนจากการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศประสบความสำเร็จในการใช้ MLC เป็นเวทีในการผลักดันและขอความร่วมมือจากจีนให้แจ้งข้อมูลเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขงให้ประเทศสมาชิกทราบตลอดทั้งปี (ซึ่งจากเดิมที่แจ้งเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น)
โดยตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เป็นต้นมา จีนได้แจ้งข้อมูลระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำจิ่งหงและหมานอัน วันละ ๒ ครั้ง ตลอดทั้งปี ทั้งผ่านกลไกทวิภาคี กลไก MRC และ MLC
 
๓. นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ใช้เวทีขององค์กรความร่วมมือ MRC เพื่อหารือกับประเทศสมาชิก (กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม) และประเทศคู่เจรจาหรือ dialogue partners (ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐฯ รวมทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เมียนมา) เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนอันเกิดจากการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งขอให้ประเทศเหล่านี้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสำนักเลขาธิการ MRC เพื่อให้ MRC สามารถทำหน้าที่แจ้งเตือน ประเมินข้อมูล และประสานงานการบริหารจัดการระหว่างประเทศสมาชิกได้ ซึ่ง MRC จะสามารถมีบทบาทตรวจสอบและรักษาสมดุลในเรื่องข้อมูลน้ำได้ด้วย
 
๔. โดยคำนึงว่าการร่วมงานกับภาคีภาคประชาชนอย่างใกล้ชิดและแข็งขันเป็นสิ่งสำคัญ และได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีปฏิสัมพันธ์กับภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ ๑ - ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ได้เข้าร่วมในเวทีเสวนาสาธารณะเพื่อการจัดตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงประเทศไทย ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อประสานงาน หารือและรับฟัง รวมทั้งจะนำความเห็นและข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ไปผลักดันในเวทีระหว่างประเทศต่อไป
 
 
 
 
 

ที่มา:กระทรวงการต่างประเทศ