ที่ประชุมปลัดกระทรวงเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 39 เร่งผลักดันอาร์เซ็ปให้มีผลบังคับใช้


 
ที่ประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 39 เร่งรัดประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการภายในให้อาร์เซ็ปมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ปรับแผนงาน AEC Blueprint 2025 เล็ง ชวนกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ทำ FTA ด้านไทยเสนอใช้โมเดล BCG ฟื้นฟูเศรษฐกิจอาเซียน
 
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 39 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียนครั้งแรกของปีนี้ เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินการด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาและวางทิศทางการทำงานในอนาคต รวมถึงการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025
 
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการรับมือของอาเซียนต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมอบหมายให้คณะทำงานสาขาต่างๆ เร่งดำเนินงานตามแผนการฟื้นฟูอาเซียน และเห็นควรขยายบัญชีสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่อาเซียนจะไม่กำหนดมาตรการกีดขวางการไหลเวียนของสินค้าในช่วงโควิดเพิ่มเติมจากยา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกรีบดำเนินการภายในให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว
 
นอกจากนี้ ยังได้หารือกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต โดยได้ร่วมกันประเมินผลการทำงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) เพื่อนำไปประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับต่อไป รวมทั้งหารือในประเด็นเศรษฐกิจสำคัญที่บรูไนฯ ในฐานะประฐานอาเซียนจะเสนอให้ดำเนินการภายในปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นใหม่ๆ เช่น การจัดทำกรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน ซึ่งไทยได้เสนอ "โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG)” ให้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและภูมิภาค รวมทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญ เป็นต้น
 
นายบุณยฤทธิ์ เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาคที่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินของอาเซียน โดยเห็นว่ากลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ หรือ GCC มีศักยภาพที่จะเป็นคู่เจรจา FTA กับอาเซียนในอนาคต โดยอาจเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบความร่วมมือไปก่อน โดยทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในสัปดาห์หน้า
 
ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 55,469.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,368.47 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดสำคัญ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
 
 
 
 
ที่มา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์