นายกฯ หารือร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ มั่นใจไทยศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในอนาคต


ภาคธุรกิจสหรัฐฯ ขอบคุณความตั้งใจของ”นายก”ย้ำความเชื่อมั่นต่อนายกฯ และรัฐบาลจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำคณะธุรกิจสหรัฐฯ มาได้ในครั้งนี้ พร้อมมั่นใจ ขยายการลงทุนในไทย
 
วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2564) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. - ASEAN Business Council: USABC) ผ่านรูปแบบผสมระหว่างการเข้าพบหารือและการประชุมทางไกล (hybrid) โดยมีนาย Michael Heath อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC พร้อมด้วยผู้แทนจาก USABC และผู้บริหารภาคเอกชนสหรัฐฯ จำนวน 49 บริษัท เข้าร่วมการประชุมฯ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 
 
นายไมเคิล ฮีธ  (Michael Heath) อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย การหารือครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นพันธมิตรที่ยาวนานและเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ไทยเป็นตลาดที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานและความมั่นคงอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นหลัก พร้อมชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทยที่บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำคณะธุรกิจสหรัฐฯ มาได้ในครั้งนี้ ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยืนยันว่าต้องการจะขยายการลงทุนในไทย และยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า
 
นายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้พบหารือกับผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิก USABC ซึ่งถือเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในการเยือนภูมิภาคประจำปีของ USABC และถือเป็นมิตรของไทยที่พบกันเป็นประจำทุกปี รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เชื่อมั่นว่าร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงธุรกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวมกว่า 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัวร้อยละ 6.19 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รวมทั้งในทางนโยบายทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญ การส่งเสริมพลังงานสะอาด การพัฒนา เทคโนโลยี EV และการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง ยั่งยืน และหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานที่ดีในการสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกบริษัทอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน 
 
นายกรัฐมนตรีนำเสนอ 3 ประการหลักที่ไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ Next Normal อย่างยั่งยืน มั่งคั่ง และเข้มแข็ง ดังนี้
1. การเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจโดยมุ่งดูแลฐานทรัพยากร และการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งด้านพลังงานสะอาด ไทยจะเพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล และการพัฒนาอุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ของโลก    
2.  การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคง ในภูมิภาค โดยเฉพาะในสาขาแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับไทยและภูมิภาคในระยะยาว ผ่านการพัฒนาความร่วมมือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเป็นจุดหมายปลายทางของ Medical Tourism อันดับต้นของโลก
3. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และรับมือกับความท้าทายในยุค Next Normal มุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง data center และศูนย์กลางคลาวด์ในระดับภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจแบบแบ่งปันและบริการคลาวด์ ส่งเสริม e-commerce ธุรกิจ digital startups และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 15 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนากำลังพลด้านดิจิทัลด้วยการเสริมทักษะแก่บุคลากร ขณะเดียวกันได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกันขับเคลื่อน Digital Thailand ผ่านการลงทุน ณ Digital Valley และ IoT Institute ใน EEC อาทิ การรักษาแบบ Telemedicine    
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ภายใต้แนวทางหลัก "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ให้เข้มแข็งและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและทุกภาคส่วน จึงหวังว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมทำงาน และสนับสนุนประเด็นที่ให้ความสำคัญร่วมกันเพื่อส่งต่อวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากไทยไปสู่วาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี 2566 อย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ
 
ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่าไทยเป็นตลาดส่งออกหลักของสหรัฐฯ และยืนยันความร่วมมือในการส่งเสริมและขยายการส่งออกต่อไป โดยเฉพาะด้านสุขภาพและสาธารณสุข ยินดีจะยืนเคียงข้างไทย รวมทั้งชื่นชมการเปิดประเทศและความมุ่นมั่นของไทยที่จะเพิ่มเติมบทบาทด้านการสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยินดีที่จะสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีหน้า ซึ่งทางคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ยินดีที่จะสร้างความร่วมมืออย่างมีความรับผิดชอบและใกล้ชิดในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางการต่อสู้สถานการณ์โควิด-19 ร่วมกัน และจะติดตามการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยต่อไป ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
 
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากทุกภาคส่วน ซึ่งขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อการพัฒนาแห่งอนาคตที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง สมดุล และยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกันภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นต่อไป
 
โอกาสนี้ ผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ได้กล่าวแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ
 
- บริษัทด้านพลังงานและอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ Chevron Ford Tesla GE กล่าวยกย่องในการเป็นผู้นำของไทยที่เข้าร่วมการประชุม COP26 และมีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2050 โดยบริษัทยืนยันความต้องการเป็นหุ้นส่วนกับไทยในการที่จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน โดยเน้นการดำเนินการธุรกิจและผลิตสินค้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการใช้พลังงานคาร์บอน
 
- บริษัททางด้านสาธารณสุข เวชภัณฑ์ ยา อาทิ 3M Pfizer Johnson&Johnson MSD มีความประสงค์ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข อ.ย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือกับปัญหาด้านสุขภาพ ยารักษาโรค การผลิตเวชภัณฑ์ป้องกันการแพร่ระบาด และยินดีร่วมมือทางด้านสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนนโยบายการเปิดประเทศ
 
- บริษัทด้านการท่องเที่ยว อาทิ Marriott Agoda AirBnb แสดงความมั่นใจในอนาคตของไทยในฐานะศูนย์กลางของการท่องเที่ยว พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สนับสนุนการจ้างงานในชุมชมท้องถิ่น และขอบคุณมาตรการต่าง ๆ ของไทยเพื่อเปิดประเทศตามมาตรการอย่างปลอดภัย และขอให้พิจารณาขยายการเดินทางให้แก่ประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์