ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ชื่นชมระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบสุขภาพปฐมภูมิของไทย


วันที่ 1 ธ.ค. 64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 64 เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส หลังการเข้าร่วมประชุม สมัชชาอนามัยโลก สมัยพิเศษ ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นวันที่ 2 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขได้พบหารือทวิภาคีกับ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ในประเด็นที่ให้ประเทศไทยเข้าร่วมใน BioHub System ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบสากลในการแบ่งปันเชื้อไวรัส สำหรับการพัฒนามาตรการป้องกันการระบาดของโรคต่าง ๆ ที่รวดเร็ว มีการตอบสนองทางการแพทย์อย่างทันท่วงที
 
นอกจากนี้ การหารือยังรวมถึงการที่ไทยจะเข้าร่วมโครงการนำร่องการทบทวนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและความมั่นคงทางสุขภาพด้านการเตรียมความพร้อมและการตอบสนอง (Universal Health Preparedness and Response, UHPR) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข  
 
"ในการหารือผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้ชื่นชมที่ประเทศไทยมีระบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบสุขภาพปฐมภูมิ หรือ Primary Health Care ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขได้ใช้โอกาสนี้ในการแชร์ประสบการณ์ด้านสาธารณสุขของประเทศไทยว่าการมีระบบสุขภาพ 3 หมอ ตั้งแต่ อสม. พยาบาลวิชาชีพประจำ รพสต. ก่อนจะส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาล ได้ช่วยให้ไทยสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว  
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการหารือนายอนุทิน ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไขว้ในประเทศไทย ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี
 
พร้อมกับแจ้งให้ทาง WHO ทราบถึงนโนบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า เนื่องจากขณะนี้ไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวนที่เพียงพอ และมีหลายแพลตฟอร์มและยังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศเอง ก็มีความสนใจที่จะบริจาคให้กับประเทศที่ยังเข้าถึงวัคซีนน้อย เพราะก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยมีการระบาดหนักและวัคซีนมีจำกัดนั้นก็ได้รับการช่วยเหลือ ได้รับบริจาคจากหลายประเทศ จนผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาได้  
 
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ได้เสนอว่าหากไทยมีความสนใจในการแบ่งปันวัคซีนแก่ประเทศที่ยังเข้าถึงวัคซีนน้อย อาจจะเลือกเข้าร่วมโครงการ African Vaccine Association Trust หรือ AVAT ซึ่งเป็นโครงการบริจาควัคซีนต่อจาก COVAX แต่เป็นการบริจาคให้กับประเทศในทวีปแอฟริกาโดยตรง  
 
"รองนายกรัฐมนตรีแสดงความสนใจที่ประเทศไทยจะให้ความช่วยเหลือแบ่งปันวัคซีนแก่ประเทศในแอฟริกาที่ขณะนี้เผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และขณะนี้ประชาชนยังเข้าถึงวัคซีนน้อย ซึ่งได้แจ้งกับ WHO ว่านำประเด็นนี้กลับมาหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ และแจ้งแนวทางร่วมโครงการของประเทศไทยอย่างเร่งด่วนต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว  
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  ในตอนท้ายการหารือ รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแสดงความยินดีกับโอกาสที่ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) จะได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกให้เป็นผู้อำนวยการใหญ่ WHO อีกสมัย เนื่องจากการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า สมาชิกจาก 20 กว่าประเทศได้เสนอชื่อผู้อำนวยการใหญ่ WHO คนปัจจุบันเพียงรายเดียว จึงรอเพียงการประชุมเพื่อรับรองเท่านั้น
 
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์