กระทรวงการต่างประเทศ มอบเครื่องพิมพ์แขนเทียม 3 มิติ ให้ศูนย์การแพทย์ใน สปป.ลาว


รองอธิบดี TICA ส่งมอบอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการเครื่องพิมพ์ 3 มิติทางการแพทย์ เพื่อผลิตแขนเทียม ให้แก่ศูนย์ปิ่นปัวฟื้นฟูหน้าที่การ กระทรวงสาธารณสุข สปป. ลาว 
.
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นประธานในพิธีส่งมอบอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการเครื่องพิมพ์ 3 มิติทางการแพทย์ ให้แก่ศูนย์ปิ่นปัวฟื้นฟูหน้าที่การ กระทรวงสาธารณสุข สปป. ลาว ที่ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมี นายแพทย์ทองเพ็ด สิดทิวัน หัวหน้าศูนย์การแพทย์ฟื้นฟูหน้าที่การ ที่เป็นผู้แทนฝ่ายลาวในการรับมอบ และมีนางสาวจิรัสยา พีรานนท์ อุปทูตฯ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เข้าร่วมด้วย
ในโอกาสดังกล่าว รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้เน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์อุปกรณ์ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งการทำนุบำรุง/ดูแลรักษาอุปกรณ์ที่ฝ่ายไทยส่งมอบเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืน
.
การส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิตแขนเทียมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ซึ่งดำเนินการโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น (ดำเนินงานผ่านโครงการ Thai Reach)  ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตแขนและมือเทียมให้แก่ สปป.ลาว โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด โดยโครงการนี้นอกเหนือการส่งเสริมความสัมพันธ์ทั้งในระดับประชาชน และระดับประเทศระหว่างไทย - ลาว ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ยังช่วยให้ สปป. ลาว สามารถเป้าหมายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย โดยอุปกรณ์ที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน ได้แก่ (1) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ชนิด FMD (2)  เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ชนิดเรซิน (3) น้ำยายูวีและเรซิน (4) เส้นใยสำหรับพิมพ์ 3 มิติ (PLA TPU PETG) และ (5) คอมพิวเตอร์ศักยภาพสูง รวมมูลค่าประมาณ 1.8 แสนบาท
.
ทั้งนี้ การดำเนินงานโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  และกรมความร่วมมือฯ ได้แปลงไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการประกอบด้วยกิจกรรมการฝึกอบรมที่โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น และการสนับสนุน/ส่งมอบอุปกรณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานด้านฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการจากระเบิดตกค้างในลาวสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์ภาคปฏิบัติในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ดำเนินการอย่างครบวงจร และมุ่งหวังที่จะให้เกิดความยั่งยืนหลังจากถ่ายทอดความรู้ไปแล้ว
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์