ร่วมมือข้ามโขง ?ไทย-ลาว? ช่วยเด็ก (น้อย) ภาวะหัวใจผิดปกติ


น.ส.มรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ระบุว่า โครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง” เป็นการนำเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ จาก สปป.ลาว ข้ามมารักษาที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลในกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก และมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก กับกระทรวงสาธารณสุขลาว และโรงพยาบาลมะโหสด เป็นการรักษาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
 
และอีกเป้าหมายคือการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ด้านการผ่าตัดหัวใจเด็กและการดูแลผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในภาวะวิกฤตในลาว
 
จุดเริ่มต้นโครงการ “รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง”
เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ระบุว่า ก่อนที่จะมาประจำการที่เวียงจันทน์ มีแนวคิดที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในลาวที่ยังไม่สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กได้ และหลังจากมาประจำการแล้ว ช่วงเดือน พ.ค.2566 สภากาชาดไทยได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลมะโหสด ทำให้มีโอกาสได้หารือร่วมกับทางโรงพยาบาล
 
และทราบว่าโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นศูนย์โรคหัวใจ และถือว่าเป็นศูนย์โรคหัวใจแห่งเดียวในลาว แต่ปัจจุบันขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคหัวใจสำหรับเด็ก จึงประสานไปยังมูลนิธิสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก เพื่อหาแนวทางสนับสนุนส่งเสริมความร่วมมือ จึงเป็นที่มาของโครงการนี้
 
โครงการนี้จะดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566-2570 จึงต้องดูความพร้อมว่าจะจัดได้อีกเมื่อไหร่ ส่วนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ให้ผ่าตัดหัวใจเด็กได้เอง ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปี
คัดกรองเด็กชาวลาว 37 คน ผ่าตัดหัวใจในไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ทีมแพทย์จากประเทศไทยเดินทางไปออกหน่วยคัดกรองที่โรงพยาบาลมะโหสด เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2566 เพื่อคัดกรองเด็กที่มีภาวะหัวใจผิดปกติเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยมีเด็กจากทั่วประเทศอายุตั้งแต่ 3 เดือน - 12 ปี เดินทางมาคัดกรองจำนวน 92 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีภาวะความผิดปกติของหัวใจหลายระดับแตกต่างกัน
รศ.นพ.ฉันชาย ระบุว่า หลังจากแพทย์ตรวจคัดกรองแล้ว พบว่ามีเด็กที่สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 37 คน
 
แบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือเด็กที่มีภาวะหัวใจผิดปกติไม่ซับซ้อน 34 คน จะถูกส่งตัวไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลในกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ส่วน 3 คนที่มีอาการซับซ้อนเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลจุฬาฯ ขณะนี้มีเด็กในโครงการฯ ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว 14 คน
 
สำหรับกลุ่มที่มีความซับซ้อนอาการหนัก ต้องมีการวางแผนที่ดี การผ่าตัดต้องอาศัยเทคนิคและทีม และต้องทำในโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความชำนาญ
ไทยร่วมพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของลาว
รศ.นพ.ฉันชาย ระบุอีกว่า ขณะนี้ประเทศลาวยังไม่มีทีมแพทย์สำหรับการผ่าตัดหัวใจเด็ก ทำให้ทีมแพทย์จากประเทศไทยมีเป้าหมายร่วมพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของลาว ทั้งการจัดฝึกอบรมในโรงเรียนแพทย์ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งการสื่อสารร่วมกันผ่านเทเลเมดิซีนและเทเลคอนเฟอร์เรน ซึ่งในอนาคตมีเป้าหมายคือทำให้แพทย์จากลาวสามารถผ่าตัดหัวใจเด็กในเคสที่ไม่มีความซับซ้อนได้
 
 
 
 
https://www.thaipbs.or.th/news/content/336589
 

ที่มา:Thaipbs