รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หารือเข้ม แนวทางผลักดันเศรษฐกิจปีนี้ ?นภินทร? ถกเมียนมาแก้ PM 2.5 ขอเวียดนามอำนวยสะดวกผลไม้


นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 30 ที่ สปป.ลาว  ว่า การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ถก 6 ประเด็นหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค
โดยประเด็นที่1 เห็นชอบแผนงานสำคัญด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะร่วมผลักดันในปีนี้ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ สปป. ลาว ซึ่งจะเน้นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และการที่อาเซียนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตของโลกตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และการวางรากฐานอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันใหม่ให้แก่อาเซียน รวมทั้งมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคธุรกิจ โดยมีแผนงานสำคัญที่เกี่ยวกับ FTA เช่น การสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลง FTA อาเซียน-จีน และการมีผลบังคับใช้ของความตกลง FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ในปีนี้ เป็นต้น 
2. การหารือถึงบทบาทอาเซียนในเวทีโลก ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ โดยได้รับทราบภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน ในปี 2567 จะมี GDP ขยายตัวร้อยละ 4.7 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 3.1 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่า อาเซียนต้องดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การปรับตัวด้านนโยบายการค้า การขนส่งและโลจิสติกส์ 2.หาตลาดและแหล่งวัตถุดิบใหม่ 3.ส่งเสริมและพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องให้รองรับ เศรษฐกิจยุคใหม่ และ 4.แสวงหาประโยชน์จากเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น
3. การรับรองกรอบการอำนวยความสะดวกด้านบริการของอาเซียน (AFSS) โดยที่ประชุมรับรองกรอบ ASFF ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือของอาเซียนที่ผ่านมาในการเปิดเสรีการค้าบริการและการบูรณาการภาคบริการในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการปรับปรุงนโยบายด้านการค้าบริการและการกำกับดูแลเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าบริการ
 4. การติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA Upgrade) โดยรับทราบว่าการเจรจาสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งยังมีเรื่องสำคัญที่ต้องหาข้อสรุป เช่น การลดภาษีเพิ่มเติม การเปิดตลาดสินค้าหมุนเวียน การใช้กลไกแก้ปัญหากรณีพิพาททางเลือก เพื่อให้ได้ผลสรุปในข้อบทหลัก ๆ ภายในปี 2567 ซึ่งไทยได้ผลักดันให้มีการลดภาษีสินค้าที่เหลืออยู่ 1,266 รายการ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เนื้อไก่สดแช่เย็น ข้าว และผลไม้
5.การติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่ประชุมได้มอบนโยบายให้แก่ทีมเจรจา เพื่อให้สามารถหาข้อสรุปการเจรจาภายในปี 2567 เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียน ติดต่อกัน 15 ปี และเป็นตลาดคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยตลอด 12 ปีที่ผ่ามา และเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ของโลกที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม
6. การติดตามการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวาระความยั่งยืนของอาเซียน โดยรับทราบว่ามีการจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจภาคทะเล เพื่อจะให้เป็นกลไกเสริมสร้างขีดความสามารถใหม่ให้กับอาเซียน โดยครั้งนี้ไทยเน้นย้ำให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งนับเป็นมลพิษในหลายประเทศของอาเซียนที่มิได้ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวัฏการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข ระบบนิเวศและการเติบโตของพืชผลการเกษตรเป็นวงกว้าง
สำหรับประเด็นอื่น ๆ ไทยในฐานะประธานการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEFA) ได้สนับสนุนและผลักดันการเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 ปี โดยมุ่งหวังให้ DEFA ช่วยส่งเสริมการค้าสินค้าและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องให้เติบโต รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น
 
 
นายนภินทรกล่าวว่า ได้ใช้โอกาสเข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับดร.คาน ซอว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเมียนมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งไทยได้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทุกภาคส่วนมาโดยตลอด และประสบผลสำเร็จในระยะแรก จึงอยากจะส่งต่อความสำเร็จมายังเพื่อนบ้าน ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับไทย โดยเมียนมายินดีขอรับความร่วมมือ แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาการเผาพื้นที่เกษตรของเมียนมา นอกจากจะขาดเทคโนโลยีที่จำเป็นแล้ว ยังต้องเพิ่มความพยายามในการรณรงค์ให้เกษตรกรโดยเฉพาะตามแนวชายแดน มีความตระหนักต่อปัญหานี้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรในการใช้วิธีเผาตอซังข้าวและพืชไร่ต่าง ๆ มีความสำคัญมากต่อการป้องกันควันพิษไม่ให้ลอยเข้าสู่อากาศส่วนเวียดนาม ได้หารือกับนายเหวียน ชิง หยิด เติญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม โดยได้ขอความร่วมมือเวียดนามอำนวยความสะดวกตรวจปล่อยสินค้าผลไม้ของไทยไปจีนในช่วงฤดูกาลผลไม้ไทยที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยขนส่งในเส้นทางจากด่านมุกดาหารและด่านนครพนม ผ่านด่านฮูงี้และด่านหมงก๋ายของเวียดนาม ก่อนเข้าสู่ด่านโหยวอี้กวนและด่านตงชิงของจีนตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐมนตรีเวียดนามยินดีจะให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่
 
 
 
 
https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/12829

ที่มา:กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ