การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย เพื่อรวบรวมความคิดในการริเริ่มการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในท้องถิ่น (International Workshop on Smart Cities in Thailand)


อธิบดี สถ. เปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย เพื่อรวบรวมความคิดในการริเริ่มการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในท้องถิ่น (International Workshop on Smart Cities in Thailand)
.
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ณ โรงแรมเอสดีอเวนิว กรุงเทพมหานคร - นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย เพื่อรวบรวมความคิดในการริเริ่มการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในท้องถิ่น (International Workshop on Smart Cities in Thailand) ร่วมกับ ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ DEPA และ Mr. Suzuki Kazuya หัวหน้าผู้แทน JICA ประจำประเทศไทย
.
อธิบดี สถ. กล่าวว่า “การส่งเสริมและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เป็นบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของประชาชนไทยในทุกภูมิภาค รัฐบาลจึงถือเป็นวาระแห่งชาติและหวังให้เป็นกลไกที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาคของประเทศ รวมไปถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานระดับพื้นที่ที่สำคัญในการยกระดับการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะด้วยการพัฒนาการจัดบริการสาธารณะให้มีความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัย สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาตามนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลไทยในทุกมิติและสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และยั่งยืน”
.
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น JICA และ DEPA ได้ร่วมกันจัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อรวบรวมแนวความคิดในการริเริ่มการพัฒนาและใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในท้องถิ่น โดยที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยหลายแห่งดำเนินการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะได้อย่างโดดเด่น เช่น เทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำแพลตฟอร์มระบบข้อมูลเมืองเพื่อการบริหารจัดการเมือง เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ดำเนินโครงการแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะในครั้งนี้ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยสามารถนำแนวทางขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะที่ได้รับการประชุมเชิงปฏิบัติการไปขับเคลื่อนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรมตามประกาศเจตนารมณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่ง Change for Good ทำให้โลกใบเดียวของทุกคนมีอายุยืนยาวตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด ‘76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน โลกนี้เพื่อเรา’

ที่มา:กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น