ทิศทางจังหวัดหนองคายในยุครถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 ประเทศ ไทย สปป.ลาว จีน


 
นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง "ทิศทางจังหวัดหนองคายในยุครถไฟไทย ลาว จีน” ณ ห้องประชุมใหญ่เทศบาลเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
 
ผลการเสวนา ปรากฏว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้คนหนองคายเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโอกาสการพัฒนา โดย
 
1.ควรมีการสร้างการรับรู้แก่ชาวหนองคายเพื่อการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือทุนมนุษย์ของหนองคาย ให้ตระหนักรู้มีความกระตือรือร้น ให้เท่าทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง
 
2.การจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัด ให้สามารถรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น การพัฒนาธุรกิจ SME และธุรกิจประเภท StartUp คือ ธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อรองรับธุรกิจด้านไอที และรวมถึงการทำธุรกิจให้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด สามารถสร้างรายได้จำนวนมาก เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นธุรกิจด้านไอทีในวงการไอที เช่น แอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งหากต้องการมองภาพของธุรกิจประเภทนี้ให้ชัดเจนขี้น อาทิ Google , facebook แบรนด์เหล่านี้ เริ่มต้นจากเป็นธุรกิจประเภท Startup ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
3.การปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย
 
4.การมีกฎระเบียบร่วมกันของภาคประชารัฐ
 
5.การปรับเปลี่ยนทัศนคติในการพัฒนาและรองรับการเปลี่ยนแปลง
 
6.การวางแผนรองรับด้านธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว อาทิ พัฒนาที่พักโรงแรมใน ระดับ 5 ดาว 4 ดาว โฮมสเตย์ คอนโด เป็นต้น โดยให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน สู่หนองคาย 4.0
 
จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation หรือ MOC) ระหว่างรัฐบาล ไทย-ลาว และจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่าง จ.หนองคาย ของประเทศไทย กับนครหลวงเวียงจันทน์ ของประเทศลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ – หนองคาย โดยมีการลงนามในร่าง MOC ในงานประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ช่วงระหว่างวันที่ 25–27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
 
โดยการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่าง 3 ประเทศ จำเป็นที่จะต้องสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ขึ้นมา จะตั้งอยู่บริเวณด้านท้ายน้ำของ สะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย–เวียงจันทน์) วางรางเป็นทางคู่ มีทั้งรางขนาด มาตรฐาน 1.435 เมตร เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งมาจากประเทศจีนได้ และย้ายรางรถไฟ ที่อยู่ในสะพานเดิมมาไว้บนสะพานใหม่แห่งนี้ด้วย มีขนาดราง 1 เมตร และจะมีสถานีรถไฟ ระหว่างประเทศ 2 สถานี คือ บนฝั่งไทย 1 สถานี และบนฝั่งลาวอีก 1 สถานี เบื้องต้น ทั้ง 3 ประเทศเห็นตรงกันว่า จะให้ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพทำผลศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ออกแบบ และการประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมด พร้อมทั้งกำหนดให้การก่อสร้างสะพานนี้จะเริ่ม ก่อสร้างเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 นครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร เงินลงทุนประมาณ 211,747 ล้านบาท ใกล้เสร็จแล้วก่อน เพื่อทั้งสองส่วนงานเชื่อมกัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด ปี 2566 ส่วนรถไฟความเร็วสูง ไทย จีน เฟส 2 ผ่าน EIA แล้ว
 
นอกจากนี้ หลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 นครราชสีมา–หนองคายแล้วนั้น ต่อไปจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาออกแบบในรายละเอียด (Detail Design) ใช้งบประมาณ 751 ล้านบาท แบ่งเป็น จากงบกลางปี 2562 จำนวน 112 ล้านบาท และงบต่อเนื่องปี 2563 จำนวน 638 ล้านบาท จะใช้เวลาออกแบบประมาณ 6-8 เดือน จากนั้นประมาณต้น ปี 2563 น่าจะเสนอให้ ครม.รับทราบ และช่วงกลางปี 2563 จะเริ่มก่อสร้างได้ รูปแบบการทำงาน ยังให้จีนเป็นที่ปรึกษาโครงการ ส่วนไทยจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมดเหมือนช่วงที่ 1 คาดว่าจะเสร็จทั้ง 2 ช่วง ปี 2566 อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงที่ 1 กรุงเทพ–นครราชสีมา อาจจะเสร็จบางส่วนไปก่อนในปี 2565
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน