ภูเก็ตพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดีประชุมสมาคมกฎหมายอาเซียน และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน


 
ภูเก็ตพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการสนับสนุนภารกิจในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียนครั้งที่ 41 และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 7 เพื่อความร่วมมือทางด้านกฎหมายและการพัฒนาฐานข้อมูลระบบการสื่อสารของประเทศสมาชิกอาเซียน
 
เมื่อ 20 พ.ย. 62 เวลา 09:30 น.ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพร้อมด้วยนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าวการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 7 เพื่อความร่วมมือทางด้านกฎหมายและการพัฒนาฐานข้อมูลระบบการสื่อสารของประเทศสมาชิกอาเซียน ระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมี นางสาวอัมภัสชา ดิษฐอำนาจผู้พิพากษาศาลชั้นตันประจำสำนักประธานศาลฎีกา, พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต , หัวหน้าส่วนราชการและ สื่อมวลชนเข้าร่วม
 
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า "ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียนครั้งที่ 41 และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 7 เพื่อความร่วมมือทางด้านกฎหมายและการพัฒนาฐานข้อมูลระบบการสื่อสารของประเทศสมาชิกอาเซียน ระหว่างวันที่ 19-23 พฤศจิกายน 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต และกรุงเทพมหานคร ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตพร้อมเป็นเจ้าบ้านจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียนครั้งที่ 41 และการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 7 ซึ่งจะมีผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์สอนวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัย นักกฎหมายภาครัฐเอกชนจากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เดินทางเข้ามาร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมด้านการแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์และการทำกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 19-23  พฤศจิกายน 2562 ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตได้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม และมอบหมายภารกิจแก่คณะกรรมการและคณะทำงานประสานงานและสนับสนุนการประชุมดังกล่าว อาทิ การต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและฝ่ายจราจร 
 
พร้อมทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมเพื่อประสานงานและสนับสนุนการประชุมฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีการเปิดศูนย์อำนวยการร่วมฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อให้การต้อนรับ การดูแลการเดินทาง การรักษาความปลอดภัยตลอดการประชุมและการทำกิจกรรมและภารกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปด้วยความราบรื่นและเรียบร้อย พร้อมทั้งได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯด้วย"
 
พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับแผนในการรักษาความปลอดภัยทั้งในส่วนของสถานที่จัดการประชุมฯ โรงแรมที่พักของผู้เข้าร่วมการประชุมฯ การอำนวยความสะดวกเส้นทางจราจรที่ใช้ในการเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้วางกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่กว่า 500 นาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยอย่างสูงสุด  
 
ด้านนายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวว่า "ในนามของศาลยุติธรรม ขอขอบคุณจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลด้านการจราจรและการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากในการประชุมครั้งนี้จะมีผู้แทนจากประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจำนวนเกือบ 250 คน และมีผู้เข้าร่วมประชุมคนไทย ประมาณ 100 คน โดยกำหนดจัดประชุมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้เป็นการจัดประชุม 2 คณะ คณะแรก คือการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 หรือเรียกว่า ALA จะจัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมภูเก็ตแมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช ( Phuket Marriott resort & spa merlin Beach) จังหวัดภูเก็ต 
 
สำหรับจุดเด่นของการประชุมนี้คือเป็นการรวมตัวของนักกฎหมาย ทั้ง ผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์สอนวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัย นักกฎหมายภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม,กัมพูชา,อินโดนีเซีย,ลาว,มาเลเซีย,เมียนมาร์,ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์, เวียดนาม และประเทศไทย โดยจะมีการประชุมหารือกิจกรรมทางวิชาการและความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างประเทศสมาชิก ได้แก่คณะกรรมการถาวรข้อสนเทศทางกฎหมาย (Legal information) คณะกรรมาธิการถาวรการศึกษา (Legal Education) คณะกรรมาธิการถาวรด้านการระงับข้อพิพาท (Alternative Dipute Resolutions) คณะ กรรมาธิการถาวรด้านกฎหมายธุรกิจ (Business Law) คณะกรรมาธิการถาวรด้านกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) คณะกรรมาธิการด้านวิชาชีพกฎหมาย (Legal Profession) คณะทำงานศึกษาด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment) ที่ผ่านมาสมาคมดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักกฎหมายในประเทศสมาชิก”
 
สำหรับคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำ ประเทศไทย (ASEAN Law Association (ALA) , Thailand) ได้จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 ตามธรรมนูญและข้อบังคับของสมาคมกฎหมายอาเซียนหรือสมาคมดังกล่าวมีขึ้นตามมติที่ประชุมการพัฒนากฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย (ปัจจุบันมีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน)  
 
คณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย   โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียนครั้งที่ 41 (41th ASEAN Law Association Governing Council Meeting) และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 7 (7th Council of ASEAN Chief Justices Meeting ) ประจำปี พ.ศ. 2562
 
นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในส่วนของการประชุมอีกคณะคือ การประชุมสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนครั้งที่ 7 หรือ CACJ (7th Council of ASEAN Chief Justices Meeting ) ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยเป็นการประชุมในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของศาลต่างๆ โดยจะมีการหารือร่วมกันเพื่อเป็นแนวทางให้กลุ่มสมาชิกอาเซียนได้นำไปใช้ร่วมกัน รวมถึงการบริหารจัดการคดี การอบรมผู้พิพากษาของแต่ละประเทศ ความร่วมมือในการส่งเอกสารในทางแพ่งและพาณิชย์ และการทำงานในข้อพิพาทเด็กที่มีบิดามารดาต่างสัญชาติกัน โดยจะมีคณะทำงานด้านการประชุมอาเซียน โดยกำหนดการประชุมในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมภูเก็ตแมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช ( Phuket Marriott resort & spa merlin Beach) จังหวัดภูเก็ต และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ณ ศาลฎีกา กรุงเทพมหานคร”
 
สำหรับสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองสถานะภายใต้กฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางการศาลและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นในประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับงานศาลยุติธรรม ปัจจุบันมีคณะทำงานรวมที่จัดตั้งโดยสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียน รวม 7 คณะทำงาน ที่ผ่านมามีความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลระบบการศาลของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดการฝึกอบรมร่วมกันของข้าราชการตุลาการของประเทศสมาชิก การศึกษาแนวทางความร่วมมือทางการศึกษาในส่วนที่เป็นกระบวนพิจารณาคดีซึ่งไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการคดีและการให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นต้น
 
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน