บันทึกประวัติศาสตร์ 2 ผวจ.ศรีษะเกษ และ ผวจ.อุดรมีชัย กัมพูชา สวมกอดเปิดด่านช่องสะงำศรีสะเกษ


จุดผ่านแดนถาวรไทย–กัมพูชา ช่องสะงำ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ได้มีการบันทึกประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของด่านช่องสะงำ โดยนายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วยคณะ ได้นำคณะข้าราชการ ทหาร ตร.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เปิดประตูเหล็กด่านจุดผ่านแดนถาวรไทย – กัมพูช่องสะงำ เข้าไปพบกับ นายแปน โก๊ะซอล ผวจ.อุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมด้วย นางมัน เชียวี่ นายซอง วีฮา รองผวจ.อุดรมีชัย พล.ท.เจีย สุเพียะ รอง ผบ.ภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา ที่ได้เปิดประตูเหล็กด้านกัมพูชาเดินตบมือเข้ามาพบกันที่บริเวณกลางจุดผ่านแดน โดย ผวจ.ศรีสะเกษและผวจ.อุดรมีชัย ได้จับมือและสวมกอดกันอย่างอบอุ่นยิ้มแย้มแจ่มใส เพื่อเป็นการแสดงถึงมิตรไมตรีที่ดีต่อกันในการเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย–กัมพูชาเป็นวันแรกนี้หลังจากที่ได้มีการปิดด่านช่องสะงำมานานกว่า 2 ปี เนื่องจากว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด–19 ระบาดไปทั่วโลก
 
 
 
โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาได้ประชุมร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการในการที่จะใช้ร่วมกันเกี่ยวกับการเปิดด่านช่องสะงำ เพื่อให้การดำเนินการเปิดด่านช่องสะงำเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเมื่อมีการประชุมร่วมกันแล้ว จึงได้มีการเปิดด่านช่องสะงำในวันนี้ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นด้วยมิตรไมตรีที่ดีต่อกันเป็นอย่างยิ่ง
 
 
 
นายแปน โก๊ะซอล ผวจ.อุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า ในการเปิดด่านในวันนี้เป็นวันที่ดีมาก ตามความเป็นจริงแล้ว การเปิดด่านไม่ได้ปิดในเรื่องของเศรษฐกิจการค้า เราเปิดมาตลอดแต่การเปิดในวันนี้เป็นการเปิดในเรื่องของคนที่สามารถเดินทางข้ามแดนไปมาได้ และในวันนี้ฝนฟ้าอากาศก็เป็นใจไม่มีฝน ก็เป็นวันที่ดีมีแต่แดด และในเรื่องการเปิดด่านช่องสะงำนี้ ต้องขอบคุณรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศที่ทำให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก ก็มีแต่รอยยิ้มเหมือนแต่ก่อนที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการเปิดด่านช่องสะงำ สาระสำคัญอยู่ที่การประชาสัมพันธ์และการให้ความรู้ในการปฏิบัติตามขั้นตอนและมาตรการในการเปิดด่านให้ประชาชนชาวกัมพูชาได้ทราบเกี่ยวกับการที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ก็จะมีการเข้าไปให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนได้มีความเข้าใจเพิ่มเติม บางครั้งพี่น้องประชาชนไม่มีความเข้าใจแจ่มแจ้งอย่างเราที่เป็นข้าราชการหรือคนทำงาน ก็จะต้องมีการให้ความรู้แล้วก็ประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมในเรื่องของการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือมาตรการในการเดินทางข้ามเข้ามาในเขตประเทศไทย
 
 
 
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การประชุมระหว่างตนและ ผวจ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชาในวันนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จมากและมีความเข้าใจร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่ายตามความมุ่งมั่นของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาลไทยและรัฐบาลของราชอาณาจักรกัมพูชา การเดินทางระหว่างประเทศในการที่จะทำให้การเดินทางมีความสะดวกมีความคล่องตัว ทั้งในเรื่องของการเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวและทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตามเรื่องของการป้องกันโรคติดต่อโควิด-19 ก็เป็นเรื่องประเด็นสำคัญที่รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้ให้ความสำคัญ ช่วงหลังมาก็ได้มีการผ่อนคลายมาตรการก็ได้มีการเปิดโอกาสให้จังหวัดต่าง ๆ เปิดด่านชายแดนกัน ในวันนี้ก็เป็นเพียงเรามาพูดคุยตกลงเพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการระหว่างกัน โดยสรุปก็คือมีความเข้าใจกันดีและสามารถที่จะปฏิบัติได้ตามที่รัฐบาลและที่ ศบค.กำหนดไว้ ในส่วนของหลักการเบื้องต้น ก็ต้องดำเนินการตามหลักมาตรการของ ศบค.ยกเว้นกรณีจำเป็น เราก็จะมีข้อผ่อนผันอะไรต่าง ๆ ให้เพื่อให้การดูแลซึ่งกันและกันเป็นไปด้วยความเหมาะสมที่สุด
 
 
 
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเวลาเปิด - ปิดด่าน เราก็ยึดถือตาม เอ็มโอยู ที่เคยได้ดำเนินการไว้ก็คือเปิดด่านตั้งแต่เวลา 07.00 น.ถึง 20.00 น.ของทุกวัน ซึ่งเป็นมาตรการที่วางไว้ ทางผวจ.อุดรมีชัย ก็ยินดีจะปฏิบัติตามตามมาตรการต่าง ๆ เราเองก็เข้าใจตามมาตรการนี้ ทาง จ.อุดรมีชัย ก็ยินดีปฏิบัติและจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวกัมพูชาทุกคนได้รับเช่นกัน จากวันนี้เป็นต้นไปประชาชนชาวไทยหรือนักท่องเที่ยวทั่วไปก็สามารถที่จะข้ามไปยัง จ.อุดรมีชัย โดย 2 ระบบก็คือระบบพาสปอร์ตและระบบของบอร์เดอร์พาส หรือบัตรผ่านแดนชั่วคราว
 
 
 
ซึ่งในเรื่องนี้ทาง ศบค.ก็มีมาตรการสำคัญที่สุดก็คือ ในเรื่องของวัคซีนผู้ที่จะผ่านแดนจะต้องมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มขึ้นไปซึ่งรัฐบาลไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว โดยหลักก็คือท่านที่จะข้ามไปยังเขตประเทศกัมพูชาก็จะต้องทำพาสปอร์ตวัคซีนไว้เพื่อความสะดวก เพราะว่าทางฝั่งกัมพูชาก็อำนวยความสะดวกให้กับคนไทยทุกอย่างขอให้มีวัคซีนครบตามที่กำหนด ซึ่งในส่วนที่ทางฝ่ายไทยทำได้ก็คือทำในระดับจังหวัด ก็มีการประสานงานภายในซึ่งเป็นเอ็มโอยูเดิม ซึ่งจะต้องมาแก้ไขปรับเปลี่ยน เราก็จะต้องเสนอความเห็นที่ได้มีการพูดคุยกันไปทางส่วนกลางเพื่อจะได้ปรับแก้ไขในอนาคตต่อไป
 
 
 
 

ที่มา:ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์